วิธีการตรวจสอบโครงสร้างบ้าน
สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นนั้นให้สังเกตภาพรวมของตัวบ้านว่าอยู่ในแนวดิ่งหรือตั้งฉากกับพื้นหรือไม่ โดยเฉพาะโครงสร้างเสาและคานรับน้ำหนักจะต้องไม่แอ่นหรือเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องสังเกตคือ ลักษณะรอยแตกร้าวต่าง ๆ ภายในตัวบ้าน ซึ่งเป็นจุดที่สังเกตง่ายที่สุดว่ามีโครงสร้างแข็งแรงหรือไม่ ซึ่งมีหลักการสังเกตดังนี้
1. รอยร้าวที่ขอบวงกบประตูหน้าต่าง *ความอันตราย ไม่มี
มักเกิดกับวงกบประตูหน้าต่างไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีการยืดหดตัวง่าย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องอุณหภูมิและความชื้น ส่งผลให้ปูนฉาบบริเวณนี้เกิดรอยร้าวได้
2. รอยร้าวแตกลายงาทั่วผนัง *ความอันตราย ไม่มี
อาจเกิดจากการผสมปูนฉาบผนังไม่ดี หรือผนังมีการหดตัวจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิระหว่างเวลากลางวันและกลางคืนเป็นเวลานาน จนทำให้เนื้อปูนฉาบแตกเป็นรอยร้าวลายงา
3. รอยแตกลายงาบนพื้น *ความอันตราย ไม่มี
พบได้ในพื้นที่ที่ไม่ได้ปูวัสดุปิดผิว เช่น พื้นหินขัด พื้นคอนกรีตขัดมัน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากหินขัดและผิวคอนกรีตมีความหนามากเกินไป รอยแตกลายงาแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่สามารถนำมาวัดความแข็งแรงของโครงสร้างพื้นได้
4. รอยร้าวบริเวณรอยต่อระหว่างผนังกับโครงสร้างเสาและคาน *ความอันตราย น้อย
เกิดจากขั้นตอนการก่อสร้างผนังที่ไม่ได้เสียบเหล็กหนวดกุ้งเกาะยึดกับโครงสร้างเสาด้านข้าง หรือเสียบแต่ไม่แน่นพอ ทำให้ผนังเกิดรอยร้าวระหว่างรอยต่อของเสา ดูแล้วไม่สวยงาม
5. รอยร้าวบนผนังแนวดิ่ง *ความอันตราย อันตราย
เป็นรอยร้าวที่เกิดจากการแอ่นตัวของพื้นและคานที่อยู่ใกล้บริเวณนั้น เนื่องจากรองรับน้ำหนักมากเกินไป หากพบรอยร้าวแนวดิ่ง ควรรีบเคลื่อนย้ายของที่มีน้ำหนักมาก ๆ ออกไปทันที
6. รอยร้าวมีสนิมบริเวณเหล็กเสริมใต้พื้น *ความอันตราย อันตราย
เกิดจากการไม่ได้หนุนลูกปูนขณะเทคอนกรีต พบได้บ่อยในกรณีที่พื้นหลังคาดาดฟ้ามีน้ำขัง จนซึมเข้ามาถึงเหล็กภายในพื้นคอนกรีต และขยายตัวดันให้คอนกรีตหุ้มเหล็กหลุดร่วงลงมา ทำให้พื้นไม่สามารถรับน้ำหนักมาก ๆ ได้
7. รอยร้าวทแยงมุมบนผนัง *ความอันตราย อันตรายมาก
เกิดจากการทรุดตัวของฐานรากหรือเสาบ้านที่อยู่ใกล้ผนังบริเวณนั้น รอยร้าวลักษณะนี้บ่งบอกถึงความไม่แข็งแรงของโครงสร้างบ้าน ควรรีบเรียกช่างผู้ชำนาญหรือสถาปนิกมาตรวจสอบและแก้ไขโดยด่วน
8. รอยร้าวใต้ท้องพื้นรูปกากบาท และรอยร้าวบริเวณกลางพื้น *ความอันตราย อันตรายมาก
เป็นรอยร้าวที่เกิดจากพื้นรับน้ำหนักมากเกินไปจนเกินขีดความสามารถ เป็นสัญญาณเตือนภัยก่อนพื้นจะพังทลายลงมา
(ที่มา : นิตยสาร Room ฉบับเดือนเมษายน)
|